วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เชื่อหรือไม่ว่า อบเชยสามารถรักษาโรคเบาหวานได้


อบเชย เป็นสมุนไพรไทย ซึ่งมีมาแต่โบราณ แต่ปัจจุบันนี้ อบเชยไม่เชยอย่างที่คิด อบเชยเป็นสมุนไพรที่ทันสมัยมากเหมาะกับทุกยุคทุกสมัย และเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรค ที่มีมาแต่โบราณเช่นกัน และมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคเบาหวานมีตั้งแต่เด็ก ถึงคนชรา วันนี้ขอนำเสนอสรรพคุณที่มหัศจรรย์ของอบเชย ให้เพื่อน ๆ ได้รู้เผื่อจะได้นำไปฝากคนที่บ้าน (ที่เป็นโรคเบาหวาน) กันค่ะ
สรรพคุณ
อบเชยทำให้ท้องเป็นปกติดี แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง ขับลม ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้ท้องร่วง ขับปัสสาวะ ย่อยไขมัน (อาจเป็นเพราะไปช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำย่อยที่ใช้ในการย่อยไขมัน) ทำให้สดชื่น แก้อ่อนเพลีย มีสารต้านแบคทีเรีย และสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ (ผลงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา)

อบเชยที่ใช้ปรุงอาหารจะใช้ชนิดหลอด (ม้วนเปลือกให้เป็นหลอด) ใช้ปรุงอาหารเช่นทำพะโล้ ใช้ทำยาไทยหลายตำรับ ตำราไทยระบุว่าอบเชยมีกลิ่นหอม มีรสสุขุม มีสรรพคุณใช้บำรุงจิตใจ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง ขับลม บำรุงธาตุ แก้บิด แก้ไข้ สันนิบาต ใช้ปรุงยานัตถุ์แก้ปวดหัว นอกจากการใช้เปลือกตำราไทยยังระบุว่ารากและใบมีกลิ่นหอมรสสุขุม ใช้ต้มดื่มขับลมบำรุงธาตุ แก้ท้องอืดเฟ้อ

สรรพคุณที่กล่าวถึงในบทความนี้ทั้งหมด คือส่วนที่ละลายน้ำได้และไม่ใช่น้ำมันที่กลั่นได้ (cinnamon oil) ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมแต่งกลิ่น เหล้า ขนมหวาน สบู่ และยาเป็นต้น อบเชยชนิดหลอดชาวตะวันตกนิยมใช้คนกาแฟ ชา หรือโกโก้ ซึ่งสาร MHCP ก็จะละลายออกมาอยู่ในเครื่องดื่มเหล่านี้ และให้ผลในการควบคุมระดับน้ำตาลเช่นกัน แต่เราไม่สามารถทราบถึงปริมาณ MHCP ซึ่งละลายอยู่ได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีนัก หากต้องการใช้
ในการรักษาเพราะควรทราบปริมาณที่ใช้อย่างชัดเจน

ผลงานวิจัยที่สำคัญ

ดร.ริชาร์ด แอนเดอร์สัน ได้แนะนำอาสาสมัครของเขาที่ป่วยเป็นเบาหวาน ให้ลองใช้อบเชยเป็นประจำ ปรากฏว่ามีอาสาสมัครนับร้อย ได้รายงานผลดีกลับเข้ามาว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ อบเชยช่วยเร่งให้การสันดาปน้ำตาลกลูโคสเพิ่มขึ้น 20 เท่า นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าการกินอบเชยนั้นไม่มีอันตราย แต่ถ้าหากการทดลองรับประทานเองแต่ละบุคคลนั้น หากได้ผลดีก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเกินคาด ทั้งยังเป็นยาที่เป็นสารธรรมชาติ และในรายที่ไม่ได้ผลดี ก็ไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด

อบเชยทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบการให้สัญญาณอินซูลิน (Insulin-Signaling System) และอาจจะทำได้ดีกว่าเสียอีกโดยที่อบเชยสามารถทำงาน ก่อนที่จะนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ สามารถใช้อบเชยร่วมกับอินซูลินได้ดี นอกจากนี้ยังพบว่าสาร MHCP สามารถลดความดันโลหิตของสัตว์ทดลองได้ และมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีอีกด้วย

แม้ว่าอบเชยจะยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนใช้แทนยาได้ แต่ ดร.แอนเดอร์สัน ก็แนะนำว่าควรทดลองใช้ 1/4 ช้อนชาถึง 1 ช้อนชาต่อวัน เมื่อคำนวณดูแล้ว 1 ช้อนชาจะหนักประมาณ 1,200 มิลลิกรัม ดังนั้น ขนาด 1/4 ช้อนชา จึงประมาณเท่ากับ 300 มิลลิกรัม สามารถบรรจุลงในแคปซูล หมายเลข 1 ได้กำลังพอดี ขนาดที่ควรใช้ก็คือ 1 แคปซูล ทุกมื้ออาหาร วันละ 4 มื้อ ในกรณีที่ใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือคนที่บิดามารดาเป็นเบาหวาน ควรรับประทานพร้อมกับอาหารมื้อใหญ่ วันละ 1-2 เม็ด ซึ่งจะช่วยย่อยอาหารและขับลมได้ด้วย อบเชยชนิดที่ ดร.แอนเดอร์สันใช้ทดลองนั้นเป็นชนิดที่เข้าหาได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา มาจากเปลือกต้นอบเชยจีนคือ Cassia (Cinnamomum cassia) ซึงคล้ายกับชนิดที่มีอยู่ในป่าบ้านเรา อบเชยชวาจะใช้ได้ดีที่สุด

การใช้อบเชยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เป็นวิธีช่วยผู้เป็นเบาหวานโดยใช้สารธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ยิ่งกับเกษตรกรผู้ปลูกอบเชยในเขตเอเชียตอนใต้รวมถึงประเทศไทยด้วย มีหลายฝ่ายคิดว่าอบเชยทีดีคือ อบเชยที่ยังไม่ผ่านการฉายแสงเพื่อฆ่าเชื้อโรค จึงควรนำเปลือกอบเชยแห้งที่ม้วนอยู่เป็นหลอดมาบดให้ละเอียดเก็บไว้ใช้เองหรือจำหน่าย แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้เป็นเบาหวานคือ จะต้องไม่ลืมเรื่องการงดอาหารที่ไม่ควรบริโภค และมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตนตามแพทย์สั่ง และ พบแพทย์ตามนัดหมาย หากใช้อบเชยกรุณาบอกแพทย์ด้วย

หากซื้ออบเชยชนิดเป็นหลอดเพื่อนำมาบดใช้เอง ควรเลือกที่ใหม่และยังไม่ถูกนำไปต้มสกัดเอารสกลิ่นไปใช้ก่อนแล้ว จึงจะเห็นผลเช่นที่ดร.แอนเดอร์สันได้ทดลองไว้ หากเลือกไม่ดีอาจใช้ไม่ได้ผล จึงควรคำนึงในเรื่องคุณภาพและชนิดของอบเชยชนิดที่ใช้ด้วย

ล่าสุดจากการติดต่อโดยตรงกับดร.แอนเดอร์สัน ได้รับทราบว่าผลการศึกษาวิจัยในคนถูกตีพิมพ์ในวารสาร เดือนธันวาคม พ.ศ.2546 ผลที่ได้จากการให้อบเชยแก่ผู้ป่วยเบาหวานพบว่าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาล คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดดีขึ้นระหว่าง 12-30 % จึงเป็นผลที่ยืนยันการศึกษาวิจัยเดิมและ
น่านำไปใช้เพื่อป้องกัน และใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวานต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : www.salasamunprai.com/herbs/cinnamon.html
และภาพสวย ๆ จากอินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น