วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

จับตาลูกก่อนเกิดปัญหาใจ


โดย: ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์

พ่อแม่เองต้องหมั่นเปิดใจ สังเกตและสัมผัสลูกของเราด้วยใจ

ขอบ่นก่อนว่า หัวข้อนี้เขียนยากจัง ยากเพราะความจำกัดของภาษาพูดเขียนที่เรามี ทำให้ไม่สามารถบรรยายถึงความแตกต่างระหว่างระดับความปกติ แค่เบี่ยงเบน หรือผิดปกติทางพฤติกรรมหรือจิตใจที่ชัดเจนแน่ๆได้

เคล็ดลับที่จะทำให้อ่านบทความนี้แล้วนำไปใช้ได้อย่างได้ผล ไม่ใช่ได้ความแต่คลุมเครือ คุณพ่อคุณแม่เองต้องหมั่นเปิดใจ สังเกต และสัมผัสเด็กๆ ลูกของเราด้วยใจ เรื่องของใจก็ต้องใช้ใจเข้าจับด้วย ว่างั้นเถอะ

ถ้าทำอย่างนี้ ลูกจะออกสัญญาณมาแบบไหนไม้ไหนก็จับได้หมดไม่หลุด อย่าไปยึดแค่ตามตัวหนังสือเท่านั้น ทำนองเดียวกับว่า รู้ว่าเพลงเพราะก็ด้วยการฟัง ไม่ใช่มองที่ตัวโน้ต (ยกเว้นคนที่เชี่ยวชาญจริงๆ ที่อ่านโน้ตก็มีเสียงเกิดในหัวตามแล้ว) จะว่าไป ถ้าเราตั้งใจเลี้ยงลูกไม่น้อยไปกว่าตั้งใจทำมาหาเงิน แบบที่เราคิดพลิกแพลงให้ได้รายได้เพิ่ม ตลอดเวลา เรื่องนี้คงไม่ยากเกินไปนัก

ที่ว่าต้องเปิดใจก็คือ เราเองต้องรับได้ว่า เด็กทุกคนมีจุดที่สามารถปรับปรุงให้ดีกว่าที่เป็นได้ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ถ้าเราเองหรือใครเห็นว่าลูกของเราอะไรๆ ก็ดีซะหมดแล้ว อย่าเพิ่งปฏิเสธว่า ลูกฉันจะมีปัญหาได้ยังไง แล้วพานโกรธคนทัก

ที่ว่าต้องสังเกต ก็คือ เราต้องระแวดระไวกับความเปลี่ยนแปลงในตัวลูกเรา หมั่นสังเกตตรวจตรา ขนาดรถคุณยังเติมน้ำเติมลม ถ่ายน้ำมันเครื่อง ไม่ปล่อยตามธรรมชาติหรือยถากรรมเกินไป แต่ก็อย่าไวกับทุกอย่างเกินไป จนเว่อร์

การอาศัยพัฒนาการโดยเฉลี่ยของเด็กอย่างที่เคยได้ยินได้เห็นมาเป็นเกณฑ์ อาจเป็นแนวทางที่เราใช้สังเกตลูกได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องสัมผัสลูกด้วยใจด้วย คือสามารถเข้าใจได้ว่า ถ้าเราเป็นเขาในวัยนั้นเราจะรู้สึกอย่างไร ไม่คิดอย่างคนในวัยเราคิด หรือถ้าไม่เข้าใจก็คุยถามเขาดู

ขั้นต่อไปก็ลองมาดูว่า อะไรหนอที่อาจเป็นอุปสรรคทำให้ลูกเราเริ่มลำบาก เริ่มมีปัญหาบ้าง เริ่มจากรอบๆ ตัวเด็ก มองครอบครัวของเราเองก่อนว่า อยู่ในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงกับครอบครัวบ้างหรือเปล่า ไม่ว่าในแง่ที่เราว่าดี อย่างย้ายบ้านใหม่ มีน้องใหม่ พี่สอบเอ็นทรานซ์ได้ พ่อแม่ได้ไปเที่ยวเมืองนอก หรือไม่ดี อย่างพ่อแม่ทะเลาะกัน เงินทองไม่พอใช้ เลยไปถึงว่ามีสมาชิกในบ้านตาย เจ็บป่วยกะทันหันหรือเรื้อรังขึ้นมาในบ้าน การหย่าร้าง ล้วนแต่มีผลกระทบกับสมาชิกทุกคน รวมทั้งเด็กๆ ด้วยเสมอ ไม่มีคำว่าเรื่องของผู้ใหญ่เด็กไม่ต้องมายุ่งเครียด (เดี๋ยวเด็กจะบอกว่า สอบคะแนนไม่ดีเรื่องของเด็ก ผู้ใหญ่ไม่ต้องมาเครียดบ้าง)

สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กๆ อีกอย่างก็คือ โรงเรียน ซึ่งได้แก่ เรื่องเพื่อนฝูง การเรียน และครู ซึ่งไม่ว่าจุดใดเกิดปัญหาขึ้น ก็อาจส่งผลต่อเด็กได้อย่างมาก

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามหากมีสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น นอกจากใจเราจะมุ่งแต่ส่งกองหน้าไปรบกับปัญหาแล้ว คงต้องมองลูกๆ ของเราไปพร้อมกันด้วย เพราะบางทีเราจะ เหมือน "ลืม" ทัพหลวงของเราว่าเดินไปด้วยกันไม่ไหว ไม่ทัน หรือทัพหลวงอาจไม่เข้าใจว่า ทัพหน้าทำอะไรกันอยู่

บางทีเราอาจไม่ลืม แต่ก็คิดว่าเด็กน่าจะเข้าใจได้เอง หรือพอเด็กเกิดปัญหาการปรับตัวขึ้นแล้ว ไม่ได้เฉลียวใจ กลับคิดว่าเด็กมาสร้างภาระเพิ่มให้เสียอีก อย่างพ่อ แม่ทะเลาะกันบ่อยๆ เด็กๆ กลุ้มใจเริ่มเรียนไม่ดี อยากให้แม่มานั่งติวให้ไม่งั้นไม่ทำงาน แม่ก็จะยิ่งเหนื่อยหงุดหงิด บางทีบ่นว่าลูก หรือส่งลูกไปเรียนพิเศษเสียเลย ลูกก็เลยไปติดเพื่อน หนักเข้าไปอีก

อีกเรื่องที่ทำให้เด็กต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และบางทีจะเกิดปัญหาได้ก็คือ เด็กเองโตขึ้นทุกวัน ต้องฟันฝ่าตามพัฒนาการทางจิตใจต่างๆ มากมาย ซึ่งไม่ใช่ว่าถึงเวลาเด็กก็เป็นเอง อย่างเช่นเรื่องการรู้และแสดงออกตามเพศของตัว หรือความรับผิดชอบในความคาดหวังจากพ่อแม่ โรงเรียน หรือด้วยตัวเด็กเองก็ตาม ความรู้เรื่องพัฒนาการแบบนี้มีใน หนังสือเยอะแยะไปหมดแล้ว คงช่วยให้คุณพ่อคุณแม่คาดได้ว่า ลูกเราอายุแค่ไหน ต้องการอะไร (นอกเหนือไปจากว่า อายุเงินฝากกี่เดือนแล้วได้ดอกเบี้ยเท่าไร ) อยากให้มองว่า เด็กไม่ได้จงใจส่งสัญญาณเรียกร้องความสนใจให้ใครรู้หรอก

ตามปกติ เมื่อเด็กเขาเจอเรื่องยากลำบาก เขาก็จะต่อสู้ไปตามนิสัย ประสบการณ์ที่เคยติดตัวมา ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วก็มักผ่านได้โดยดี (ไม่ต้องเลือกใหม่สามสี่รอบแบบ สว.)

สัญญาณเตือนแบบไหนอันตราย?

สิ่งที่นับว่าเป็นสัญญาณไม่ดีแล้วก็คือ เมื่อลูกเลือกวิธีที่ไม่เข้าท่ามาแก้ปัญหา ยิ่งใช้ก็ยิ่งแย่ หรือหมดมุขไม่รู้จะทำยังไงต่อแล้ว เราถึงได้นับอย่างนั้นเป็นสัญญาณที่ต้องเข้าช่วย

มาถึงเรื่องว่า เด็กจะส่งสัญญาณเย้วๆ ให้เราตีความแบบไหนได้บ้าง

คนที่เดินมาบอกเองว่า กลุ้มใจก็พอมี แต่ไม่เยอะมาก เพราะบางทีเด็กไม่สบายใจแต่บรรยายไม่ถูก เหมือนบางเพลงเราฟังว่าเพราะ แต่ไม่รู้จะบรรยายยังไง

เด็กบางรายก็เกรงใจไม่อยากบอกพ่อแม่ คิดว่าเดี๋ยวก็หายเอง (ก็ทำนองเดียวกับผู้ใหญ่บางรายละครับ )

ที่ร้ายก็คือ เด็กก็เคยพยายามส่งซิกแล้ว แต่พ่อแม่กลับว่าเด็กว่า ไม่น่าคิดมาก ไม่ซื้อความรู้สึกของเด็ก แล้วปิดการเจรจา เด็กก็เลยปิดการขายไม่ลง

ถ้าจะบอกง่ายที่สุดก็คือ สัญญาณอย่างว่าจะเป็นแบบไหนก็ได้ สัญญาณอาจได้แก่การถดถอย หมายถึงว่า เด็กกลับไปเหมือนเด็กที่เล็กกว่า ไม่สมอายุ เช่นเคยนอนคนเดียวได้ กลับกลัวติดแม่แจ หรือกลับไปปัสสาวะรดที่นอนเหมือนตอน 2-3 ขวบ พูดยานคาง ไม่ชัด กัดเล็บ แบบนี้เราต้องเริ่มสนใจ บางทีเด็กอาจแสดงสัญญาณโดยเหม่อลอย ไม่ยิ้มแย้ม แยกตัว ไม่อยากเสวนากับใคร อย่างนี้พ่อแม่มักไม่พลาด เพราะเห็นได้ชัด

อีกขั้วก็คือ เด็กอาจกลับนิสัยจากที่เคยสงบเรียบร้อย กลายเป็นต่อต้าน ดื้อ ก้าวร้าว มาอาการนี้ พ่อแม่มักหลง ไม่รับสัญญาณ แต่มักเป่าแตรรบใช้อำนาจกำลังปราบกบฏให้ เด็กกลับเป็นเมืองขึ้น ซึ่งมักทำให้เรื่องบานปลาย

สัญญาณที่หมอได้เจออยู่เสมอก็คือ เด็กบอกอาการป่วยโน่นนี่อยู่เรื่อย ที่แชมป์ก็คือปวดหัวปวดท้อง (บางรายลามไปปวดก้านคอ ใบหู) โดยที่ไปหาหมอเก่งๆ ตรวจมาเยอะแยะ แล้ว หมอก็ส่ายหน้าหาโรคให้ไม่ได้ พบไม่น้อยว่าเกิดปัญหาในใจขึ้นมาแล้ว อาการอย่างนี้มักมาร่วมกับการที่เด็กจะไม่ยอมไปโรงเรียนคู่กันด้วย

สัญญาณอย่างสุดท้ายที่จะยกตัวอย่างให้ฟังคือ เรื่องของสรีระร่างกายที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมากกว่าปกติ ฝันละเมอมากขึ้น กินอาหารไม่ลงหรือกินมากกว่าปกติ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะราดบ่อย หรือไม่ยอมถ่าย กลั้นไว้ให้ผู้ใหญ่ขัดใจเล่น (ซึ่งมักพบว่าเป็นปัญหาในเด็กวัยอนุบาล)

ถึงตอนนี้ คงได้ภาพของเด็กที่เริ่มส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ SOS กับเราแล้ว อย่าลืมว่าเครื่องรับของเราต้องพร้อมเปิดรับอยู่ และพร้อมที่จะเข้าไปรับฟังช่วยเขาด้วย พ่อแม่เอง ถ้าคิดว่าสถานการณ์ช่วงไหนที่เล่าแล้วว่า เสี่ยงต่อการที่ลูกของเราจะปรับตัวยาก ก็ยิ่งต้องเพิ่มความเข้มของการมองหาให้มากขึ้นด้วย

จริงอยู่ กระต่ายตื่นตูมจะกลุ้มใจเกินเหตุ แต่เด็กของเราอาจไม่รู้ว่า วิธีแก้ปัญหาของเขาอาจเหมือนกับการไปเขย่าโยกต้นให้มะพร้าวหล่นใส่หัวตัวเองมากขึ้น ช่วยเขาหาทางที่ถูกแต่ต้นมือดีกว่าครับ


ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก

www.momypedia.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น