วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

5 ขั้นของความสุข ... ว. วชิรเมธี

ท่าน ว.วชิรเมธี จะมาแนะ 5 ขั้นของความสุขให้รู้จัก

เชื่อแน่ว่าความสุขที่ทุกคนปรารถนา ใช่ว่าจะได้มาเหมือนกันทุกคน เพราะคนที่ปรารถนาความสุข แล้วมีความสุขนั้น คือคนที่เรียนรู้ว่าจะแสวงหาความสุขได้อย่างไร

ในทางพุทธศาสนามีพุทธสุภาษิตอยู่บทหนึ่งกล่าวไว้ว่า อยากมีความสุข หากแสวงหาถูกวิธี ก็ย่อมจะมีความสุข ส่วนใครอยากมีความสุข แต่คุณแสวงหาไม่ถูกวิธี ก็จะไม่พบกับความสุข ฉะนั้นถ้าเราอยากจะมีความสุข ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า ความสุขนั้นมีกี่ขั้น เพราะเรามีความสุข เราจะได้รู้ว่าสุขที่เรามีเป็นสุขขั้นไหน แล้วเราจะพัฒนาความสุขนั้นขึ้นไปได้อย่างไร จึงจะพัฒนาตัวเองขึ้นไปจนเป็นผู้ที่มีความสุขแท้

พระพุทธศาสนาบอกว่า ความสุขของมนุษย์ มี 5 ระดับ ได้แก่
  1. สุขเกิดจากความมี เป็นความสุขในระดับเศรษฐกิจ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ตลอดจนถึงมีอิสรภาพในการใช้ความคิด คนเราพอมีปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยสี่แล้ว ชีวิตก็มีความสุข ลองไปถามดูสิว่า ใครไม่อยากมีบ้าน ใครไม่อยากมีรถ ใครไม่อยากมีเงิน ทุกคนอยากมีบ้าน อยากมีรถ อยากมีเงินจับจ่ายใช้สอย เราอยากกินอิ่ม นอนอุ่น เหล่านี้เรียกว่าความสุขจากความมี ที่เราแสวงหากันทุกวันนี้ก็เพื่อตอบโจทก์จากความมีทั้งนั้น ทุกคนอยากมี ใครๆ ก็อยากมี ไม่มีใครอยากเป็นคนจน เราจึงมีวลีอยู่วลีหนึ่งว่า "มั่งมีศรีสุข" หมายความว่า ถ้าเราเป็นคนมีมากๆ ซึ่งเราใช้คำว่า มั่งมี ก็จะก่อเกิดความสุขที่เป็นเกียรติเป็นศรี ซึ่งใช้คำว่า ศรีสุข แล้วเรียกรวมกันว่า มั่งมีศรีสุข สะท้อนชุดความคิดที่ว่า การมีสิ่งต่างๆ นั้น ก่อให้เกิดความสุข ความสุขนี้เรียกสั้นๆ ว่า มั่งมีศรีสุข
  2. ความสุขจากความดี คือเราได้ทำคุณงามความดีเอาไว้มาก พอระลึกนึกถึง เราก็เกิดความปิติ เกิดความภาคภูมิใจในคุณงามความดีที่เราได้บำเพ็ญเอาไว้ จิตใจถูกหล่อเลี้ยงด้วยคุณงามความดี จิตใจถูกหล่อเลี้ยงด้วยความภาคภูมิใจ เราก็เลยรู้สึกว่าชีวิตนั้นมีความอยู่เย็นเป็นสุข เป็นความสุขด้านใน
  3. สุขจากการมีความรู้ คนเราพออยากรู้อะไรแล้วได้แสวงหา จนกระทั้งค้นพบความจริง แล้วเราก็มีความรู้ ความรู้ก่อเกิดความสุข เช่น ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าจนลืมกินข้าว ‘มาดามแมรี คูรี่’ อ่านหนังสือสอบจนลืมกินข้าว ‘โทมัส อัลวา เอดิสัน’ มีความสุขกับการทดลอง เพราะฉะนั้นนักวิชาการทั้งหลายจึงให้ความสำคัญน้อยมากกับเรื่องความร่ำรวย กับเรื่องเกียรติภูมิในสังคม แต่ให้ความสำคัญอย่างสูงยิ่งกับการทำงานเชิงวิชาการ ความสุขจากการแสวงความรู้ ก็เป็นความสุขที่ประณีตขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
  4. ความสุขจากความสงบ ร่มเย็น เพราะว่ามีสุขภาพดี เพราะว่ามีอิสรภาพในการใช้ปัญญา เพราะว่ามีจิตที่เป็นสมาธิ เบิกบานผ่องใส ก็เป็นชีวิตที่มีความสุขอันประณีต ความสุขอย่างนี้บางทีเราก็ใช้คำว่า สมาธิสุข สุขที่เกิดจากสมาธิ คือสภาพชีวิตที่ราบรื่น เรียบร้อย รื่นรมย์ เราสามารถอยู่คนเดียวได้อย่างมีความสุขโดยที่ขึ้นต่อคนอื่นน้อยลง แต่เป็นความสุขของจิตใจที่แจ่มใส เบิกบาน สงบนิ่งล้วนๆ
  5. วิมุติสุข สุขจากการเป็นอิสระจากความอยาก คนทั่วไปนั้นพยายามเรียกร้องเสรีภาพที่จะอยาก คืออยากอย่างเสรี มนุษย์ทั่วไปอยากอะไรแล้วได้สมอยากก็มีความสุขใช่ไหม มนุษย์ทั่วไป ไปได้แค่นั้น แต่ในทางพุทธศาสนา เราถือกันว่าความสุขที่แท้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการตอบสนองความอยาก แต่ความสุขที่แท้เกิดขึ้นจากการเป็นอิสระจากความอยาก ใครเป็นอิสระจากความอยาก คนนั้นก็มีวิมุติสุข คือความสุขจากอิสระของจิตใจที่ไร้มลทิน เพราะไม่มีกิเลสมาพันธนาการเอาไว้
ใครก็ตามที่อยากมีความสุข นอกจากจะต้องแสวงหาให้ถูกวิธีแล้ว ก็ต้องรู้ด้วยว่าความสุขมีกี่ประเภท เราจะได้ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่นในความสุขชนิดใดชนิดหนึ่ง แล้วก็บอกตัวเองว่าฉันประสบความสำเร็จแล้วในชีวิต

บางทีมันอาจจะเป็นบันไดขั้นแรกของความสุข แล้วคุณก็ติดอยู่บันได้ขั้นแรก แล้วก็หลงภูมิใจ บอกใครต่อใครเขาไปทั่วว่าคุณมีความสุข ทั้งที่จริงมันเป็นเพียงแค่โรงเรียนอนุบาลของความสุข ทั้งที่จริงคุณควรไปจะไปถึงอุดมศึกษาของความสุขมากกว่า...

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น