วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

เปิดผลวิจัยมะลิซ้อนมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด


ดอกมะลิซ้อน เป็นดอกไม้ที่คนไทยรู้จักกันมาช้านานแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีผลวิจัยเกี่ยวกับดอกมะลิซ้อนออกมาเพื่อเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ โดย คุณภานุกิจ กันหาจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาฤทธิ์สารสกัดมะลิซ้อนต่อการขยายตัวของหลอดเลือดแดงหนูเร็ท พบว่า มีประสิทธิภาพสูงเหมาะที่จะพัฒนาต่อเพื่อใช้เป็นสารเสริมอาหาร สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดแข็งตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยความดันสูง

ทั้งนี้ รายงานวิจัยจากต่างประเทศระบุว่า สารสกัดจากมะลิพวงมีศักยภาพทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจขยายตัว และมีฤทธิ์บำรุงหัวใจ ดังนั้น จึงสนใจศึกษาสมุนไพรไทยหลายชนิด กระทั่งพบว่า มะลิซ้อนของไทยมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับมะลิพวง

ประกอบกับตำรับยาโบราณระบุถึงการใช้ดอกมะลิซ้อนรักษาโรคหลายชนิด เช่น เยื่อบุตาอักเสบ การหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ขับเสมหะ หอบหืด โดยเฉพาะใช้บำรุงหัวใจ เนื่องจากมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2550 พบมากถึงราว 2 ล้านคน หรือใน 10 คนจะพบ 1 คน นับเป็นความหวังในการพัฒนาสารตั้งต้นชนิดใหม่ใช้ป้องกันโรคดังกล่าว

"การทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดมะลิซ้อนกับหลอดเลือดช่องอกของหนูขาว พบสารสกัดจากดอกมะลิซ้อนมีประสิทธิภาพขยายหลอดเลือดเพิ่ม 40% เมื่อเปรียบเทียบกับยารักษาขยายหลอดเลือดในท้องตลาด" เจ้าของผลงานวิจัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยพื้นฐานให้เป็นผลิตภัณฑ์นั้น จะเป็นหน้าที่ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่จะต้องศึกษาเพิ่มเกี่ยวกับการแยกองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัด เพื่อนำมาวิเคราะห์จัดกลุ่มของสารสำคัญ รวมถึงศึกษาในรายละเอียดต่อไป เช่น การบีบตัวของหัวใจ ผลต่อเกล็ดเลือด ซึ่งมีมาตรฐานในการศึกษาอยู่

"อย่างที่รู้กันดีจากภูมิปัญญาชาวบ้านว่า พืชสมุนไพรหลายชนิดมีศักยภาพในการรักษาโรค ไม่ว่าจะเป็น ดอกพิกุล มะลิ ที่นำมาใช้มากขึ้นแต่ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยัน" ดร.ชุลีรัตน์ บรรจงลิขิตกุล นักวิชาการฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. กล่าว

อย่างไรก็ตาม สารสกัดทุกตัวที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ จำเป็นต้องศึกษาความเป็นพิษก่อน และสารสกัดมะลิซ้อนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เกิดพิษ และมีความปลอดภัยสูง

"สารสกัดจากมะลิซ้อนจะถูกใช้เป็นสารมาตรฐาน ตามกลไกการออกฤทธิ์ที่ยืนยันได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ส่วนความหวังที่จะนำมะลิซ้อนมาทำเป็นยารักษาโรคหัวใจนั้น ต้องยอมรับว่าทำได้ยาก เพราะต้องใช้เวลานาน" นักวิชาการ วว. กล่าวและว่า ปกติสารที่สกัดจากดอกไม้จะต้องใช้ดอกแห้ง ถ้ามะลิที่เหลือจากการไหว้พระ สามารถนำมาใช้สกัด ทำเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ปรับสมดุล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงหัวใจ ซึ่งราคาต้นทุนการผลิตไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับสมุนไพรชนิดอื่นที่ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากโครงการการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 29 มหาวิทยาลัย งานวิจัยสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่ วว. สนับสนุน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ยอมรับสูตรยาสมุนไพร หากไม่มีข้อพิสูจน์ที่ยืนยันได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นหากมีข้อมูลทางวิชาการยืนยันจะสามารถเพิ่มมูลค่าของสมุนไพรได้มากขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 3 ธันวาคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น