วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

รับมือปัญหาประจำเดือนด้วยแพทย์ทางเลือก


ใครกำลังมีปัญหาแก้ไม่ตก ได้เวลาไปเช็คจุดอ่อนที่ต้องปรับเปลี่ยน พร้อมเรียนรู้วิธีแก้ตามศาสตร์ของแพทย์ทางเลือกดังต่อไปนี้

อารมณ์แปรปรวน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมบูรณ์ คุณาธิคม ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า ความแปรปรวนของอารมณ์เกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและระหว่างมีประจำเดือน สาเหตุเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงนี้ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิด ก้าวร้าว ซึมเศร้า เครียด กดดัน ไม่มีสมาธิ และควบคุมตัวเองไม่ได้
อาการดังกล่าวยังเกิดร่วมกับอาการทางกาย เช่น คัดเต้านม ปวดท้องน้อย ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาการอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรงในช่วงมีประจำเดือนนั้นพบได้น้อย คนส่วนมากมักจะมีแค่อาการไม่สบายตัว หรือหงุดหงิดเล็กน้อย ซึ่งแก้ได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตอารมณ์ของตัวเองก็จะช่วยได้

ชีวจิตดูแลครบสูตร
อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง แนะนำว่า “ประจำเดือนจะปกติหรือไม่ล้วนเกี่ยวกับระบบฮอร์โมน เพราะระบบฮอร์โมนเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของอิมมูนซิสเต็ม โดยปกติผู้หญิงต้องมีฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิงสมดุลกัน”
“อาการปวดประจำเดือน” การรำกระบองช่วยทั้งป้องกันการปวด และช่วยแก้อาการที่กำลังปวด เพราะเวลาปวดจะปวดตึงกล้ามเนื้อทั้งกล้ามเนื้อที่หน้าท้อง บั้นเอว หลัง และกล้ามเนื้อภายในบริเวณมดลูก รังไข่ บางคนถึงกับเป็นตะคริว
การรำกระบองมีท่าแถมที่ช่วยดึงและยืดส่วนปลายกล้ามเนื้อ แบบที่เรียกว่า push and pull และมีท่าเตะต่างๆ ท่าบิดตัว อย่าง ท่า 180 องศา 360 องศา ที่ช่วยคลายอาการปวด คลายเกร็ง นอกจากนี้ยังมีท่าที่ช่วยเรื่องการหายใจ เช่น ท่าจูบสะดือ ท่าไหว้พระอาทิตย์
นอกจากการออกกำลังกายแล้ว การกินอาหารให้ถูกต้องก็ช่วยได้ ถ้ารู้ว่าประจำเดือนกำลังจะมา อย่ากินอาหารหนักๆ ให้กินอาหารเบาๆ อย่างข้าวต้มปลา ข้าวต้มเห็ด หรือต้มยำปลา ที่มีสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ข่า ก็ช่วยลดอาการได้

ชวนรู้ภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และภาวะขาดประจำเดือน
ภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เช่น สองสามเดือนมาครั้ง และมากระปริบประปรอย จะเกิดกับคนที่รอบเดือนไม่มีการตกไข่ และคนอ้วน
ภาวะขาดประจำเดือน เกิดจากความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนเพศ ทำให้ไม่มีประจำเดือน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ฮอร์โมนเพศไม่สมดุลคือปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้
- อ้วนหรือน้ำหนักเกิน
- ความเครียด
- ความผิดปกติทางโครงสร้างของมดลูก
- โรคขาดอาหาร
- โรคถุงน้ำรังไข่
- โรคเรื้อรังต่างๆ
- การให้นมบุตร
- การคุมกำเนิดด้วยยาคุมบางชนิด

โยคะปรับสมดุล
“โยคะสำหรับแก้อาการเกี่ยวกับประจำเดือน จะเน้นท่าที่ทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดเข้าสู่อุ้งเชิงกรานคล่องขึ้น ซึ่งช่วยปรับชี่ (พลังงานที่ขับเคลื่อนการมีชีวิต) ตลอดจนปรับและกระตุ้นฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์ให้สมดุล
“บวกกับการหายใจและเคลื่อนไหวอย่างมีสมาธิแบบโยคะ จะช่วยผ่อนคลายทั้งตัว ลดความเครียด ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อให้คลายลง
“โยคะจึงช่วยลดปัญหาได้ทั้งอาการปวดประจำเดือน ช่วยปรับให้ประจำเดือนมาตรงเวลาได้ และยังช่วยเรื่องอารมณ์ได้ด้วย

ประจำเดือนมามากเกินไป
เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของรอบเดือนที่ไม่มีการตกไข่นาน ๆ ส่งผลให้ไม่มีฮอร์โมนมากระตุ้นเยื่อบุผนังมดลูก ซึ่งทำให้เยื่อบุจะหนาตัวขึ้นเรื่อย ๆ พอมีประจำเดือนจึงมีการขับรอบเดือนออกมามาก
นอกจากนี้ ยังเกิดจากการเจ็บป่วย เช่น เนื้องอกในมดลูกซึ่งทำให้มดลูกโต โพรงมดลูกใหญ่ขึ้น มีส่วนทำให้เลือดออกมากเมื่อมีประจำเดือน หรือผู้ที่เป็นโรคเลือดแข็งตัวช้า ก็มีโอกาสที่ประจำเดือนจะมามากกว่าปกติ
สำหรับผลข้างเคียงเมื่อประจำเดือนมามากคือทำให้เป็นโรคเลือดจาง ซึ่งส่งผลกับอวัยวะอื่นได้ เช่น หัวใจที่ต้องทำงานหนักเพราะเลือดพาออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจน้อยลง นานเข้าอาจทำให้หัวใจโตได้ หรือทำให้บางคนมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลียได้ง่าย เพราะเลือดไปเลี้ยงสมองน้อย

ประจำเดือนที่มาน้อยเกินไป
เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกบาง ปากมดลูกตีบ หรือกลุ่มที่เคยมีการอักเสบในโพรงมดลูกจนเกิดเป็นพังผืด ทำให้เลือดออกน้อย
นอกจากนี้ ยังเกิดจากการไม่ดูแลสุขภาพ เช่น กินอาหารไม่เพียงพอ ผอมเกินไป หรือผู้ที่กินยาคุมมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ฮอร์โมนที่มากระตุ้นมดลูกไม่ทำงาน ประจำเดือนจะมากระปริบกระปรอย มาตรงบ้างไม่ตรงบ้าง
รวมถึงคนที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน รังไข่จะทำงานไม่ปกติ ไม่มีการตกไข่ ประจำเดือนจะมาน้อยลงและห่างไปจนกระทั่งหมด

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก :
ชีวจิตออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น