วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

ประจำเดือนของคุณปกติหรือเปล่า ???

ธรรมชาติสร้างมาให้ผู้หญิงเราเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้วจะต้องมีประจำเดือน แสดงถึงความพร้อมของร่างกายในการให้กำเนิดบุตร เด็กสาวๆ ยุคอินเตอร์เน็ตนี่โตกันเร็ว อายุ 12-13 ยังเรียนชั้นประถมไม่ทันจบดีส่วนใหญ่ก็เริ่มมีประจำเดือนกันแล้ว (นั่นหมายความว่าเธอพร้อมจะเปลี่ยนสถานะจากเด็กหญิงของแม่มาเป็นแม่ของเด็กได้โดยธรรมชาติ) แต่บางคนพอเริ่มมีประจำเดือนมาครั้งแรกก็หายไปนานเป็นเดือนๆ เลย มีๆ หายๆ อยู่พักใหญ่กว่าจะมาสม่ำเสมอ เล่นเอาสาวน้อยหลายคนพากันกลุ้มอกกลุ้มใจคิดว่าตัวเองมีความผิดปกติอะไรหรือเปล่า...

อาการประจำเดือนมาแล้วหายในช่วงแรกรุ่นแบบนี้ยังถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะรังไข่วัยแรกสาวอาจทำงาน และการตกไข่ยังไม่เข้าระบบสมบูรณ์นัก เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ร่างกายผลิตไข่ทุกเดือน ประจำเดือนก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ เข้ารอบเฉลี่ย 28 วัน (ระยะที่ถือว่าเป็นเกณฑ์ปกติคือ 22-35 วัน) ไปจนอายุ 49-50 ปีจึงจะเริ่มลดน้อยถอยลง มาเว้นระยะห่างมากขึ้นจนหมดในที่สุด

สาวคนไหนไม่มีทุกข์เรื่องเกี่ยวกับประจำเดือน จงภูมิใจได้ว่าชีวิตนี้โชคดีมาก เพราะยังมีสาวๆ อีกมากที่เป็นทุกข์รายเดือน บ้างมาน้อยไป มากไป มีแล้วหงุดหงิด เห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด (เพราะระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงเป็นเหตุ) บางคนก็ปวดท้อง ตั้งแต่ปวดนิดหน่อยไปจนถึงปวดจนตัวโก่งตัวงอ บางคนถึงกับนอนซมทำงานไม่ได้เลยก็มี ชวนให้ชีวิตอับเฉาไปถนัดใจ

ไม่ว่าจะเป็นวันมามาก มาน้อย หรือไม่มาเลย หรือมีอาการปวดต่างๆ แถมให้ ระหว่างมีประจำเดือน ล้วนมีทั้งที่เป็นอาการปกติ และแบบที่ผิดปกติ คุณคงต้องลองสังเกตดูว่าแบบที่คุณเป็นนั้นเป็นแบบไหน อย่างไรกัน

ประจำเดือนขาด (Amenorrhea)
ถ้าเวลาคุณไปตรวจร่างกาย ปรึกษาแพทย์เรื่องเกี่ยวกับประจำเดือน แล้วเห็นเขาเขียนกำกับอาการว่า Amenorrhea โปรดระลึกว่านี้หมายถึงอาการขาดประจำเดือน ซึ่งสูตินรีแพทย์ได้จัดลำดับขั้นของการขาดประจำเดือนนี้ไว้เป็น 2 ระดับ คือ

อาการขาดประจำเดือนระดับปฐมภูมิ (Primary Amenorrhea) คือการที่ไม่มีประจำเดือนมาเลย เมื่อถึงวัยแรกสาว โดยทั่วไปแพทย์จะถือว่าผิดปกติ ถ้าอายุ 14 ปีแล้วยังไม่มีพัฒนาการทางเพศและไม่มีประจำเดือน หรือมีพัฒนาการทางเพศแล้ว เช่นมีหน้าอกแต่ไม่มีประจำเดือนเมื่ออายุ 16 ปีขึ้นไป
อาการขาดประจำเดือนระดับทุติยภูมิ (Secondary Amenorrhea) คือการที่คุณเคยมีประจำเดือนเป็นปกติมาก่อน แต่อยู่ดีๆ ก็มีอันต้องขาดๆ หายๆ มาบ้างไม่มาบ้าง ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 3 รอบเดือน ซึ่งโดยปกติแล้วช่วงเวลาที่ผู้หญิงเราจะขาดประจำเดือนมีอยู่ 4 ช่วงด้วยกัน คือ
- ช่วงวัยแรกรุ่นหลังมีประจำเดือนใหม่ ๆ
- เมื่อคุณตั้งครรภ์
- เมื่ออยู่ในช่วงให้นมบุตร
- เมื่ออยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน (เมโนพอส)
แต่ถ้านอกเหนือจาก 4 ข้อดังกล่าวแล้ว แต่ประจำเดือนของคุณไม่มาตามกำหนด ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้

อาการขาดประจำเดือนระดับปฐมภูมิ (Primary Amenorrhea) คือการที่ไม่มีประจำเดือนมาเลย เมื่อถึงวัยแรกสาว โดยทั่วไปแพทย์จะถือว่าผิดปกติ ถ้าอายุ 14 ปีแล้วยังไม่มีพัฒนาการทางเพศและไม่มีประจำเดือน หรือมีพัฒนาการทางเพศแล้ว เช่นมีหน้าอกแต่ไม่มีประจำเดือนเมื่ออายุ 16 ปีขึ้นไป
อาการขาดประจำเดือนระดับทุติยภูมิ (Secondary Amenorrhea) คือการที่คุณเคยมีประจำเดือนเป็นปกติมาก่อน แต่อยู่ดีๆ ก็มีอันต้องขาดๆ หายๆ มาบ้างไม่มาบ้าง ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 3 รอบเดือน ซึ่งโดยปกติแล้วช่วงเวลาที่ผู้หญิงเราจะขาดประจำเดือนมีอยู่ 4 ช่วงด้วยกัน คือ
- ช่วงวัยแรกรุ่นหลังมีประจำเดือนใหม่ ๆ
- เมื่อคุณตั้งครรภ์
- เมื่ออยู่ในช่วงให้นมบุตร
- เมื่ออยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน (เมโนพอส)
แต่ถ้านอกเหนือจาก 4 ข้อดังกล่าวแล้ว แต่ประจำเดือนของคุณไม่มาตามกำหนด ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้

ต่อมไทรอยด์ หรือต่อมพิทูอิทารี ทำงานผิดปกติ
มีความผิดปกติเกิดขึ้นที่รังไข่
การออกกำลังกายมาก หรือเหนื่อยเกินไป
ความเครียด
น้ำหนักตัวน้อยเกินไป
มีอาการป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวาน
มีระดับฮอร์โมนไม่สมดุล จากอาการผิดปกติต่างๆ เช่น มีซีสต์ในรังไข่
ผลข้างเคียงจากการได้รับยาบางอย่าง รวมทั้งคนที่รับประทานหรือฉีดยาคุมกำเนิด อาจส่งผลให้ประจำเดือนของคุณขาดไปชั่วคราวระหว่างที่ได้รับยานั้น และมักจะกลับมาเป็นปกติอีกหลังจากหยุดยาประมาณ 3-6 เดือน
ดังนั้นถ้าคุณรู้สึกกังวลว่าตนเองจะมีอาการผิดปกติหรือไม่ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ดีกว่านะคะ

อาการปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน (Dysmenorrhea)
หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่มักจะไม่สบายตัวเสมอเมื่อถึงวันนั้นของเดือน ก็คงไม่แปลกนักค่ะเพราะสาวๆ กว่าครึ่งค่อนโลกที่อยู่ในวัยมีประจำเดือน มักจะเกิดอาการปวดเนื้อเมื่อยตัว โดยเฉพาะปวดบริเวณท้องน้อย หรือเป็นตะคริว ซึ่งมักจะเป็นมากในช่วงวันแรกๆ หากโชคดีหน่อยอาจเป็นเพียง 1-2 วันก็หาย หรือปวดตลอดช่วงเวลามีประจำเดือนเลยก็มี

บางคนยังมีอาการเกี่ยวเนื่องด้วย เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ ท้องผูก ท้องร่วง บางครั้งอาจถึงกับอาเจียนได้ ตัวการสำคัญคือเจ้าฮอร์โมน Prostaglandins เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ผลิตโดยเซลล์ในเยื่อบุมดลูก Prostaglandins นี้จะเป็นตัวที่คอยควบคุมและกระตุ้นมดลูกให้หดเกร็งระหว่างที่กำลังมีประจำเดือน หรือระหว่างคลอดบุตร การหดเกร็งของมดลูกทำให้เราเจ็บปวด และขณะที่กล้ามเนื้อมดลูกหดตัวจะกดเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เนื้อเยื่อได้รับเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ จึงมีอาการปวดมากขึ้น อาการปวดประจำเดือนแบบนี้มี 2 ระดับเช่นกันคือ

การปวดระดับปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea)
อาการปวดที่เกิดจากการหดเกร็งตัวของมดลูก ปวดไม่มากแต่ชวนหงุดหงิด รำคาญตัว โดยฮอร์โมน Prostaglandins เป็นเหตุ ไม่มีสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ แพทย์ว่าปวดเช่นนี้ถือเป็นปกติ ยกเว้นรายที่มีอาการปวดมากๆ อาจต้องให้ยาบรรเทาปวดช่วยด้วย
การปวดระดับทุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea)
อาการปวดอีกระดับหนึ่งที่มักจะรุนแรงกว่าแบบแรก ซึ่งมักมีสาเหตุจากความผิดปกติทางสูตินรีเวชบางอย่าง เช่น

เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือ Endometriosis (เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด)
ปีกมดลูกอักเสบ
เนื้องอกในมดลูก
คอมดลูกแคบ ทำให้เลือดประจำเดือนไหลไม่สะดวก
ส่วนการใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด เช่น ห่วงคุมกำเนิด (IUDs) ก็มีผลทำให้เกิดการปวดท้อง และมีเลือดไหลมากผิดปกติได้
โดยปกติ สาวรุ่นๆ มักจะปวดประจำเดือนกันมากกว่าผู้ใหญ่ อาการปวดท้องจะค่อยๆ บรรเทาลงเมื่อสูงวัยขึ้น ดังนั้นหากคุณปวดท้องมากๆ จนทนแทบไม่ได้เกือบทุกเดือน หรือยังคงปวดเสมอแม้เมื่ออายุมากขึ้นแล้วก็ตาม อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ให้ตรวจวินิจฉัยเผื่อว่าอาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นนะคะ

การมีเลือดประจำเดือนออกมากเกินไป (Menorrhagia)
สาวๆ บางคนเวลามีประจำเดือนอาจต้องเสียเลือดครั้งละมากๆ หรือนานกว่าปกติ บางคนเสียเลือดมากกว่า 80 มล. ต่อครั้ง ขณะที่ทั่วๆ ไปจะเสียเลือดเพียง 30-60 มล. ซึ่งจำเป็นต้องหาสาเหตุและรักษาอย่างจริงจังต่อไปค่ะ สาเหตุที่ทำให้เลือดประจำเดือนออกมากเกินไป ได้แก่

ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย
เกิดมีเนื้องอก ที่กล้ามเนื้อมดลูกหรือคอมดลูก
เยื่อบุมดลูกอักเสบ จากเชื้อแบคทีเรีย
เกิดซีสต์ในรังไข่
มีความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
การใช้ห่วงคุมกำเนิด (IUDs)
นอกจากนี้คุณผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก มีลูกมาแล้วหลายคน คนที่มักจะเครียด หดหู่ ซึมเศร้า สูบบุหรี่จัด หรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ก็มีโอกาสที่ประจำเดือนของคุณจะมามากเกินปกติได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม หากพบว่าคุณมีเลือดออกมากเกินไป ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยอาการ รับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมจะดีที่สุดค่ะ เพราะสาเหตุของความผิดปกติของประจำเดือนที่ต่างกัน ก็ต้องใช้การรักษาต่างๆ กันออกไป เมื่อพบสาเหตุก็ควรจัดการแต่เนิ่นๆ อย่ามัวรีรอหรือกลัวหมออยู่เลยค่ะ......


ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก :
นิตยสาร Health Today

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น