วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

"เด็กอ้วน กับการออกกำลังกายให้ถูกวิธี"


โรคอ้วนแม้จะไม่ใช่โรคระบาดที่น่ากลัว แต่กลับมีลักษณะของการลุกลามของปัญหาขยายวงมายังประเทศกำลังพัฒนา ที่เลียนแบบวิธีการบริโภคจากประเทศตะวันตก การแก้ปัญหาโรคอ้วนจึงต้องอาศัยการตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนที่จะนำมาซึ่งโรคร้ายอื่นๆ ตัวอย่างเช่นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ทางเดินหายใจอุดกั้น กระดูกพิการ


วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่อาจจะเสียเหงื่อและเสียไขมัน ก็คือการออกกำลังกาย การที่เด็กอ้วนจะออกกำลังกายนั้น ควรออกให้ถูกวิธีด้วย รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีคำแนะนำ เตรียมตัวก่อนออกกำลังกาย

อันดับแรก แพทย์หญิงอุมาพรแนะนำว่า ก่อนออกกำลังกายไม่เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ควรจะมีการเตรียมตัวกันเสียก่อน เริ่มต้นจากการเลือกเครื่องแต่งกายที่จะสวมใส่ระหว่างการออกกำลังกาย เสื้อผ้าที่ใช้จะต้องเป็นเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย คือไม่ใส่เสื้อหรือกางเกงรัด ๆ ซึ่งจะทำให้หายใจลำบาก ควรจะใส่เสื้อสีอ่อน เพราะไม่เก็บความร้อน เนื้อผ้าควรจะเป็นผ้าที่สามารถระบายเหงื่อได้ดี และเลือกสวมรองเท้าสำหรับใช้ออกกำลังกายโดยเฉพาะ ที่สามารถรับแรงกระแทกได้ดี มีขนาดพอดีเท้าไม่รัดหรือหลวมเกินไป


ก่อนการออกกำลังกายสักประมาณครึ่งชั่วโมง ให้ดื่มน้ำ 1 แก้ว และถ้าเป็นการออกกำลังกายที่ยาวนาน เช่น แข่งฟุตบอล วิ่งทางไกล ก็ควรจะมีการพักดื่มน้ำเป็นช่วง ๆ ทุก 15-20 นาที ครั้งละประมาณครึ่งแก้ว ขึ้นอยู่กับขนาดตัวเด็ก

และสิ่งสำคัญต่อการออกกำลังกายทุกครั้ง ไม่จำกัดว่าจะเป็นคนอ้วน ผอม หรือหุ่นดีก็คือ การอุ่นเครื่องก่อนออกกำลังกาย เด็กไม่ควรที่จะเริ่มออกกำลังกายเลยทันที ควรจะมีการอุ่นเครื่องประมาณ 5 นาที เพื่อเป็นการเตรียมให้ร่างกายพร้อมจะรับการออกกำลังที่มีความหนักเบาต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย

วิธีการอุ่นเครื่องก็เป็นท่าทั่ว ๆ ไป ที่เราเคยเรียนมาในวิชาพลศึกษา เช่น การเดินเร็ว ๆ การวิ่งเหยาะ ๆ อยู่กับที่ การยืดกล้ามเนื้อด้วยท่ากายบริหาร เช่น การเหยียด แขนขา เป็นต้น เพื่อให้กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อมีความคล่องตัว พร้อมที่จะรับกิจกรรมต่อไป


แพทย์หญิงอุมาพร กล่าวว่า กีฬาที่เหมาะสมสำหรับเด็กอ้วนคือ กีฬาที่เบาถึงปานกลาง อาทิ เดินเร็ว ๆ ครึ่งชั่วโมง วิ่งเหยาะ ๆ ปิงปอง แบดมินตัน ว่ายน้ำ เป็นต้น กีฬาที่ทุกคนสามารถทำได้ ก็คือการเดินและวิ่ง แต่ถ้าเลือกเป็นเกมกีฬาเด็กมักจะเพลิดเพลิน ไม่เบื่อง่าย

เด็กควรออกกำลังกายติดต่อกันเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง การออกกำลังกายต้องการสมรรถภาพของหัวใจและปอดด้วย จึงต้องมีการออกกำลังให้ถึงจุดที่เหมาะสม ในระดับที่ทำให้รู้สึกเหนื่อย แต่ว่ายังไม่ถึงกับเหนื่อยมากจนพูดคุยไม่ได้ และเด็กควรจะสังเกตตัวเองว่า ร่างกายเหนื่อยมากไปหรือยัง หรือผู้ปกครองควรจะช่วยสังเกตตัวเด็กด้วย


ในเด็กที่มีความอ้วนมาก ๆ ไม่ควรเล่นกีฬาที่หนักเกินไป ควรเล่นกีฬาที่มีความหนักน้อยถึงปานกลาง เพราะว่าหัวใจของเด็กอ้วนต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายที่มีขนาดใหญ่อยู่แล้ว เด็กอ้วนบางคนมีหัวใจโต ซึ่งมีโอกาสที่จะหัวใจวายได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป หากออกกำลังกายแรง ๆ จะเป็นอันตรายได้


ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เด็กอ้วนควรออกกำลังกายด้วยการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ให้ร่างกายมีโอกาสเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เช่น ช่วยทำงานบ้าน กวาดบ้าน ปลูกต้นไม้ ล้างรถ รวมทั้งลดการใช้อุปกรณ์ทุ่นแรง เช่น ขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ลดการดูโทรทัศน์และเล่นเกมคอมพิวเตอร์เหลือไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง

นอกจากนี้ เมื่อเล่นเสร็จแล้วต้องไม่ลืมปรับสภาพร่างกายอีกประมาณ 5 นาทีก่อนจะหยุดการออกกำลัง ด้วยการลดระดับความหนักของกิจกรรมลง เช่น เปลี่ยนจากการวิ่งเป็นเดินเร็ว ๆ แล้วเดินให้ช้าลง ตามด้วยการยืดกล้ามเนื้ออีกเล็กน้อย เพื่อให้เลือดไม่คั่งในกล้ามเนื้อ และร่างกายกลับสู่สภาวะปกติ


ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก :

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ 13 มีนาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น